ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

กำลังปรับปรุง ฺBlogger นะครับ
หากมีข้อผิดพลาดขออภัยครับ


วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การฝึกหัดโขนเบื้องต้น

หลักและวิธีการฝึกหัดโขน

               การฝึกหัดเบื้องต้น  หมายถึง ท่าปฏิบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะฝึกหัดโขนทุกประเภท เพื่อเตรียมร่างกายให้เกิดความพร้อมในการฝึกหัดขั้นต่อไป ในการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นนั้นมีแบบแผนและวิธีฝึกหัดอันเป็นศิลปะที่ประณีตและมีหลักวิชาโดยเฉพาะทั้งในเรื่องของจังหวะ การเคลื่อนไหวอวัยวะ และการส้รางร่างกายให้แข็งแรง การฝึกหัดเบื้องต้นเริ่มมีมาตั้งแต่การฝึกหัดโขนและละครหลวง  ซึ่งมีหลักการฝึกหัดคล้ายคลึงกัน  จะแตกต่างกันที่วิธีฝึกหัด  ลีลาท่าทางที่แบ่งเป็นฝ่ายพระ, นาง, ยักษ์, และลิง

หลักการคัดเลือกผู้เรียน

               นักเรียนที่จะเข้ารับการฝึกหัดโขนนั้น เป็นนักเรียนชายด้วยเป็นประเพณีมาแต่โบราณ ว่า พวกโขนต้องเป็นชาย  ผู้ที่เข้ารับการฝึกหัดโขนควรจะได้เริ่มหัดกันมาตั้งแต่เยาว์วัยราวอายุ 8-12 ขวบ  จึงจะฝึกหัดได้ดีถ้าเด็กมีอายุมากเสียแล้วก็หัดได้ยาก  นอกจากจะมีอุปนิสัยมาแต่เดิม  เด็กชายที่จะฝึกหัดโขนนั้น  ในชั้นต้นครูผู้ใหญ่จะต้องพิจารณาคัดเลือกออกเป็น 4 พวกคือ  1) พวกพระ  2) พวกนาง  3) พวกยักษ์  และ 4) พวกลิง  ซึ่งมีรายละเอียดและลักษณะของการพิจารณาคัดเลือกดังนี้
  1. พวกพระ  คัดเลือกผู้มีลักษณะ คือ  รูปหน้าสวย  จมูกสัน  ลำคอโปร่งระหง  ช่วงแขนและช่วงขาสมส่วน  รวมความว่า พวกพระนั้นคัดเลือกจากผู้ที่มีทรวดทรงสัณฐานงามสมส่วน  ใบหน้ารูปไข  หน้าตาคมคายท่าทางสะโอดสะองผึ่งผาย ตามแบบของชายงามในวรรณคดีไทย
  2. พวกนาง  คัดเลือกผู้มีลักษณะ  คือ  เลือกจากผู้ที่มีรูกร่างคล้ายพวกพระ  แต่ไม่สู้พิถีพิถันนัก สิ่งสำคัญอยู่ที่เลือกคนที่มีใบหน้างานและดูที่มีกิริยาท่าทางแช่มช้อยนิ่มนวลอย่างกิริยาหญิง
  3. พวกยักษ์  คัดเลือกผู้มีลักษณะ  คือ  เลือกจากผู้ที่มีรูปร่างคล้ายพวกพระ  แต่ไม่ต้องเลือกหน้าตา  เลือกเอาผู้ที่มีร่างใหญ่  ท่าทางแข็งแรง 
  4. พวกลิง  คัดเลือกผู้มีลักษณะ  คือ  เลือกจากผู้ที่มีรูปร่างป้อม ๆ ท่าทางหลุกหลิกคล่องแคล่ว  
                   ครั้นครูคัดเลือกศิษย์ไว้แล้ว  เมื่อถึงวันพฤหัสบดี  ซึ่งนับถือกันว่าเป็นวันครู  ก็ทำพิธีมอบตัวให้ครู ศิษย์จะต้องมีดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการะอย่างสังเขป  แล้วพร้อมกันเข้าไปเคารพครูผู้ใหญ่  มอบดอกไม้ธูปเทียนให้ท่าน  สมมติว่าดอกไม้ธูปเทียนนั้น  คือตัวของศิษย์เอง  ขอมอบให้  สุดแต่ท่านจะจัดฝึกฝนอบรมอย่างไร  เมื่อครูผู้ใหญ่รับธูปเทียนดอกไม้ไว้แล้วก็นำไปสู่ที่สักการะ  ทำความเคารพบูชาอุทิศถึงครูบาอาจารย์ของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้วอีกต่อหนึ่ง  แล้วก็เริ่มจับท่ามาจับท่าให้บรรดาศิษย์เป็นปฐมฤกษ์  ต่อนั้นไปก็มอบบรรดาศิษย์แจกจ่ายให้ครูผู้ช่วยรับไปฝึกหัดกันแต่ละฝ่าย  พวกพระก็มอบให้ครูพระรับไปฝึกหัด  พวกนางก็มอบให้ครูนางรับไปฝึกหัด  พวกยักษ์ก็มอบให้ครูยักษ์รับไปฝึกหัด  พวกลิงก็มอบให้ครูลิงรับไปฝึกหัด  ซึ่งเน้นความหนักเบาในการฝึกหัดแตกต่างกันออกไป แต่หลักใหญ่ในการฝึกหัดเบื้องต้นที่ตรงกัน  มีอยู่  4-5 ประการ
หลักการฝึกหัดเบื้องต้น ประกอบด้วย 
1) ตบเข่า 
2) ถองสะเอว 
3) เต้นเสา         
4) ถีบเหลี่ยม 
5) ฉีกขา 
6) หกคะเมน
วิธีการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้น  มีดังนี้


1) ตบเข่า  
                เป็นการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นลำดับแรก   ซึ่งเป็นการฝึกให้นักเรียนเริ่มรู้จักจังหวะดนตรี  รู้จักใช้โสตประสาทฟังท่วงทำนองเพลงและจังหวะได้แม่นยำถูกต้อง สามารถแยกแยะเสียง และมีความเคยชินกับจังหวะ  จังหวะถือเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติท่าเต้นโขน
หมายเหตุ  จังหวะในการปฏิบัติท่าเต้นโขนแบ่งออกได้  2  ลักษณะ คือ
1. จังหวะเปิด มีลักษณะการปฏิบัติท่าติดต่อกันในคราวเดียว 
2. จังหวะปิด มีลักษณะการปฏิบัติท่าทีละจังหวะช้า ๆ จนครบท่า

วิธีการปฏิบัติท่าตบเข่า 

ท่าเตรียม ครูให้ผู้ฝึกจะให้นักเรียนนั่งพับเพียบเข้าแถวกันบนพื้นราบตั้งลำตัวและส่วนศีรษะตรง อย่างที่เรียนว่า อกผายไหลผึ่ง เปิดปลายคางตามองตรงไปข้างหน้า แบฝ่ามือทั้งสองข้างวางคว่ำลงบนเข่า เมื่อนักเรียนทั้งหมดอยู่ในท่าเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มการปฏิบัติโดยแบ่งการปฏิบัติเป็นจังหวะ 3 จังหวะ ดังนี้
 จังหวะที่ 1 นักเรียนยกฝ่ามือขวาขึ้น (ตามลักษณะของมนุษย์โดยธรรมชาติจะถนัดมือขวาครูโบราณจึงกำหนดให้ยกมือขวาเป็นลำดับแรก) มือขวาที่ยกขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก  แขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับลำตัว  ตบฝ่ามือขวาลงไปบนเข่าขวา พร้อมกับยกฝ่ามือซ้ายขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก  แขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับลำตัว  นับ 1
จังหวะที่ 2 ตบฝ่ามือซ้ายลงไปบนเข่าซ้าย พร้อมกับยกฝ่ามือขวาขึ้นอยู่ในระดับหน้าอกแขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับลำตัวนับ 2
จังหวะที่ 3 ตบฝ่ามือขวาลงไปบนเข่าขวา พร้อมกับยกฝ่ามือซ้ายขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก แขนงอทำมุมฉาก 90 องศา กับลำตัวนับ 3
เมื่อนักเรียนปฏิบัติจนครบแล้วให้เริ่มต้นใหม่ตามจังหวะไม้เคาะ ซึ่งครูผู้สอนจะเคาะไม้กรับเป็นสัญญาณ 1 ครั้ง นักเรียนปฏิบัติ 1 จังหวะ สลับกันไปอย่างนี้จนกว่าจะพรั่งพร้อมและมีจังหวัดสม่ำเสมอ ลักษณะการปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ปิดจังหวะหรือจังหวะปิด หากครูเคาะไม้กรับเป็นสัญญาณ 2 ครั้งติดต่อกัน ให้นักเรียนปฏิบัติท่าตบเข่า 3 จังหวะติดต่อกันในคราวเดียวและนับ 1,2,3 ติดต่อกันในคราวเดียวด้วย  การปฏิบัติท่าตบเข่าในลักษณะนี้ เรียกว่า เปิดจังหวะหรือจังหวะเปิด  
ในบางกรณีครูอาจจัดให้นักเรียนนั่งสองแถวหันหน้าเข้าหากันให้ตบเข่าแข่งกัน เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความสนุกสนานในการฝึกหัด  นักเรียนจะได้ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องทรมารหรือเจ็บปวดร่างกาย และเหนื่อย  การตบเข่านักเรียนต้องฝึกหัดเป็นเวลานาน ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง พักแล้วกลับมาฝึกหัดอีกจนมีความชำนาญคล่องแคล่ว และสามารถจดจำจังหวะได้ดี 

2) ถองสะเอว 
             เป็นการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นลำดับที่  2  ต่อจากท่าตบเข่า  เป็นวิธีการฝึกหัดให้นักเรียนเริ่มรู้จักวิธีการยักเยื้องลำตัว  ยักคอ  ยักไหล่  และใบหน้าได้คล่องแคล่ว  ซึ่งจะทำให้อวัยวะของร่างกายตั้งแต่เอวจนถึงศีรษะมีความอ่อนไหว  ได้สัดส่วนงดงาม  เป็นไปตามลักษณะที่ต้องการได้

วิธีการปฏิบัติท่าถองสะเอว
ท่าเตรียม ครูให้ผู้ฝึกจะให้นักเรียนนั่งพับเพียบเข้าแถวกันบนพื้นราบตั้งลำตัวและส่วนศรีษะตรง อย่างที่เรียนว่า อกผายไหลผึ่ง เปิดปลายคางตามองตรงไปข้างหน้า แบฝ่ามือทั้งสองข้างวางคว่ำลงบนเข่า เมื่อนักเรียนทั้งหมดอยู่ในท่าเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มการปฏิบัติ ดังนี้
ครูให้จังหวะไม้กรับ  นักเรียนยกแขนทั้งสองขึ้นข้างลำตัวระดับเอว  งอข้อศอกให้ศอกห่างจากสีข้างประมาณหนึ่งฝ่ามือ  หงายท้องแขน  กำมือหลวม ๆ พร้อมทั้งหักข้อมือเข้าหาลำตัว  ต่อจากนั้นจึงการถองสะเอว  โดยเริ่มจากกระแทกศอกขวาเข้ากับสะเอวขวา  พร้อมกับยักคอเบนศีรษะไปทางบ่าซ้ายมือซ้ายยื่นออกจากลำตัว ต่อจากนั้นให้กระแทกศอกซ้ายเข้ากับสะเอวซ้าย  พร้อมกับยักคอเบนศีรษะไปทางบ่าขวา มือขวายื่นออกจากลำตัว  ทำดังนี้สลับกันไปจนนักเรียนเกิดความคล่องแคล่ว  สามารถยักเยื้องลำตัวและศีรษะได้ดีถูกต้องตามแบบแผนปฏิบัติ  

3) เต้นเสา 
 เป็นการปฏิบัติการฝึกหัดเบื้องต้นลำดับที่  3  ต่อจากท่าถองสะเอว  เป็นวิธีการฝึกหัดให้นักเรียนเริ่มรู้จักใช้อวัยวะส่วนขาและเท้าให้แข็งแรง  กำลังอยู่ตัวและคงที่  นอกจากนี้ยังฝึกหัดให้ผู้เรียนรู้จักน้ำหนักของฝ่าเท้า  และใช้จังหวะเท้าในการเต้นให้สม่ำเสมอกัน

วิธีการปฏิบัติท่าเต้นเสา
ท่าเตรียม ครูให้ผู้ฝึกจะให้นักเรียนนั่งพับเพียบเข้าแถวกันบนพื้นราบตั้งลำตัวและส่วนศรีษะตรง อย่างที่เรียนว่า อกผายไหลผึ่ง เปิดปลายคางตามองตรงไปข้างหน้า แบฝ่ามือทั้งสองข้างวางคว่ำลงบนเข่า ครูให้จังหวะเพื่อให้นักเรียนลุกขึ้นยืนเข้าแถวหันหน้าไปตามทิศเดียวกัน  ผู้ที่อยู่หัวแถวยืนหันหน้าตรงกับต้นเสาต้นใดต้นหนึ่ง  คนหลัง ๆ ยืนเข้าแถวต่อตรงกับคนหน้า  เว้นระยะห่างกันราวหนึ่งศอก  ผู้ที่อยู่หัวแถวใช้มือแตะกับต้นเสาทั้ง 2 มือ  ทาบฝ่ามือไว้ที่เสา  น้ำหนักอยู่ที่มือตอนปลาย คนหลัง ๆ ใช้มือทั้งสองแตะที่สะเอวของคนหน้า  ต่อกันไปเป็นแถวตรง  ต่อจากนั้นครูเคาะจังหวะให้นักเรียนย่อขากันเข่าทั้งสองข้างออกไปทางซ้ายและทางขวาให้ได้ฉาก (เหลี่ยม) เมื่อนักเรียนทั้งหมดอยู่ในท่าเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มการปฏิบัติโดยครูเคาะจังหวะให้นักเรียนปฏิบัติในท่าที่เรียกว่า “ตะลึกตึก” ก่อน
หมายเหตุ  “ตะลึกตึก”  มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
จังหวะที่ 1 ยกเท้าขวาหนีบหน่องมากระทืบชิดส้นเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้นติด นับ 1
จังหวะที่ 2 กระทืบเท้าซ้ายชิดส้นเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้น นับ 2
จังหวะที่ 3 กระทืบเท้าขวาชิดส้นเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้น นับ 3
                  เมื่อนักเรียนปฏิบัติท่าตำลึกตึกแล้วยกเท้าซ้ายขึ้นรอไว้  ครูเคาะจังหวะให้นักเรียนกระทืบเท้าลงบนพื้นให้พอดีกับจังหวะ (จังหวะที่ 2 ) แล้วเปลี่ยนยกขาขวาขึ้นกระทืบเท้าขวาลงบนพื้น แล้วเปลี่ยนยกขาซ้ายกระทืบลงบนพื้น  ปฏิบัติดังนี้สลับกันพร้อมทั้งนับจังหวะ 1-2-3 ไปด้วย

4) ถีบเหลี่ยม 
       เป็นการบังคับและควบคุมอวัยวะร่างกายให้อยู่ในท่าที่ต้องการ  ทั้งยังได้ช่วงขา ช่วงแขนและอกมีระดับคงที่

วิธีการปฏิบัติท่าถีบเหลี่ยม
ท่าเตรียม  ครูให้นักเรียนยืนหันหลังแนบชิดติดกับเสาหรือฝาผนัง  แล้วให้นักเรียนย่อขาและกันเข่าทั้งสองข้างออกไป  จนส่วนโค้งของเข่าเป็นมุมฉาก (เหลี่ยม) ครูนั่งลงกับพื้นยกเท้าทั้งสองข้างใช้ฝ่าเท้ายันที่หน้าขาของนักเรียนตรงหัวเข่าด้านใน  แล้วค่อย ๆ โน้มถีบเข่าของนักเรียนแยกออกไปทางเบื้องหลังทีละน้อย ๆ จนเข่าของนักเรียนเป็นเส้นขนานกับแนวไหล่ของนักเรียน  
                ข้อควรระวัง ในการปฏิบัติท่าถีบเหลี่ยมเป็นท่าปฏิบัติที่ครูต้องกระทำให้กับนักเรียน  กล่าวคือ นักเรียนไม่สามารถนำไปปฏิบัติเองตามลำพังหรือจะให้เพื่อนนักเรียนกระทำให้มิได้  เนื่องจากหากกระทำผิดวิธีจะทำให้ได้รับอันตรายได้ 

5) ฉีกขา
  ใช้สำหรับนักเรียนที่ฝึกหัดเป็นตัวลิงโดยเฉพาะ  วิธีฉีกขาจะช่วยให้สามารถใช้ลำขาได้ตามต้องการ  และทำให้นักเรียนยืนหรือย่อเหลี่ยมได้อย่างมีส่วนสัดงดงาม

วิธีการปฏิบัติท่าฉีกขา
ท่าเตรียม ครูให้นักเรียนยืนหันหลังแนบชิดติดกับเสาหรือฝาผนังเช่นเดียวกับท่าถีบเหลี่ยมครูนั่งลงกับพื้น แล้วให้นักเรียนค่อยเลื่อนตัวลงมาจนถึงพื้น โดยขาทั้งสองข้างเหยียดตรงออกด้านข้าง  เมื่อนักเรียนลงนั่งกับพื้นแล้วครูใช้ฝ่าเท้าทั้งสองข้างยันที่หน้าขาของนักเรียนตรงหัวเข่าด้านใน  แล้วค่อย ๆ โน้มถีบเข่าของนักเรียนแยกออกไปทางเบื้องหลังทีละน้อย ๆ จนเข่าของนักเรียนเป็นเส้นขนานกับแนวไหล่ของนักเรียน ดังภาพ
                ข้อควรระวัง ในการปฏิบัติท่าฉีกขา เป็นท่าปฏิบัติที่ครูต้องกระทำให้กับนักเรียน  กล่าวคือ นักเรียนไม่สามารถนำไปปฏิบัติเองตามลำพังหรือจะให้เพื่อนนักเรียนกระทำให้มิได้  จนกว่านักเรียนจะสามารถบังคับและควบคุมอวัยวะได้เอง  เนื่องจากหากกระทำผิดวิธีจะทำให้ได้รับอันตรายได้ 

6) หกคะเมน
  ใช้สำหรับนักเรียนที่ฝึกหัดเป็นตัวลิงเช่นกัน  เป็นท่าโลดโผนสำหรับการแสดงออกตามลักษณะที่เป็นธรรมชาติของลิง

วิธีการปฏิบัติท่าหกคะเมน
                ครูให้นักเรียนยืนในท่าตรง  ใช้ฝ่ามือทั้งสองของตนยันกับพื้น  ต่อจากนั้นจึงค่อยยกเท้าทั้งสองขึ้นไปในอากาศ  แล้วหกเท้าลงข้างหลังหรือข้างหน้า 
ท่าหกคะเมนมีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้
  1. หกคะเมนหงายไปข้างหลัง  เรียกว่า “ตีลังกาหกม้วน”
  2. หกคะเมนไปข้างหน้า เรียกว่า “อันธพา”
  3. หกคะเมนไปข้าง ๆ เรียกว่า “พาสุริน”
ข้อควรระวัง  ในการปฏิบัติท่าหกคะเมน  ในช่วงแรก ๆ ของการปฏิบัติควรอยู่ในความดูแลของครูอย่างใกล้ชิด  นักเรียนจะนำไปปฏิบัติเองตามลำพังหรือจะให้เพื่อนนักเรียนกระทำให้มิได้ จนกว่านักเรียนจะสามารถบังคับและควบคุมอวัยวะได้เอง  เนื่องจากหากกระทำผิดวิธีหรือขาดความระมัดระวังจะทำให้ได้รับอันตรายได้ 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม



วันอาสาฬหบูช


เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของอาเซียน


อาเซียน +3 และ อาเซียน +6 คืออะไร ?



ลักษณะวลีและประโยคพื้นฐาน

จิตรกรรมไทยแบบประเพณี

เรียนรู้จากนิราศ

เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 1

ระบบคอมพิวเตอร์

การตากข้าว สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 3

คุณสมบัติของรัฐมนตรี

อาณาเขตประเทศไทย

Adjective ตำแหน่งของคุณศัพท์ ( Position )
ทำไมแมลงปอต้องบินไปแตะผิวน้ำ
(อ่าน 148)
ประโยชน์ของ "ขมิ้นต้น"
(อ่าน 518)
นวดแก้ปวดไม่ใช้มือ ศาสตร์บำบัดล้านนา
(อ่าน 1021)
สรรพคุณของ "ปวยเล้ง"
(อ่าน 1307)
ประเพณีการบอกหมาก ในงานแต่งงาน
(อ่าน 1302)
วิธีปลูกหอมญี่ปุ่น
(อ่าน 257)
ปลูกเมล่อนหน้าแล้ง
(อ่าน 641)
"มะรุม" พืชมหัศจรรย์
(อ่าน 2533)
เลค ฮิลเลอร์ ทะเลสาบสีชมพู ประเทศออสเตรเลีย
(อ่าน 1647)
10 เรื่องที่ควรรู้ ก่อนคิดจะเลี้ยง "ไซบีเรียน ฮัสกี้"
(อ่าน 398)
มาทำความรู้จัก "พริกหวาน" กันเถอะ
(อ่าน 428)
คุณประโยชน์ของ "มะเขือเทศ" ที่ดีต่อร่างกาย
(อ่าน 1670)